ผู้สมัครงาน
เคยไหม! เวลาที่คุณเดินผ่านคลองในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร แล้วได้กลิ่นเน่าเหม็น ลอยปะทะเข้าจมูกทุกครั้งที่ลมพัดผ่าน เหตุใดที่ผ่านมา ชาวกรุงจึงได้แต่ต้องจำ "ฝืนทน" ดมกลิ่นไม่พึงปรารถนา ด้วยความสงสัยระคนเศร้าใจว่า เหตุใด เมืองที่ครั้งหนึ่งมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกว่า สวยงามประหนึ่งเป็น "เวนิชตะวันออก" เพราะมีคูคลองสวยงามจำนวนมาก มาวันนี้ เหตุไฉน จึงเต็มไปด้วยลำคลองที่ขุ่นคลั่กไปโคลนและเศษขยะ หากแม้มีเพียงละอองน้ำกระเซ็นใส่ถูกร่างกาย ชาวกรุงก็แทบจะต้องรีบไปหาน้ำสะอาดชำระล้างด้วยความขยะแขยง....
เหตุใด เราจึงต้องจำทนเรื่องนี้ต่อไป ทั้งๆ ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ถือเป็นหนึ่งจังหวัดพิเศษ ที่สามารถคัดกรองผู้มานั่งเป็นพ่อเมืองได้ด้วยตัวเอง และไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากี่ครั้ง ผู้สมัครแทบทุกคน ก็จะหยิบยกเรื่องนี้มาหาเสียงกันเกือบทุกคน แต่เหตุใด แม่น้ำ ลำคลอง ของเมืองหลวงสยามประเทศ จึงยังไม่ได้รับการแก้ไข ให้คืนกลับมาสวยงามดังเดิม
ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านไปรับฟังคำตอบ จากทุกคำถาม ทุกแง่มุมในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้พวกเรา จำต้องทนกับเรื่องนี้ อีกต่อไป...
ขยะและสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน ใช้วิธีปล่อยลงสู่ลำคลองอย่างมักง่าย ทำน้ำเน่าเสีย
สภาพคลองลาดพร้าวและขยะในลำคลอง
กรุงเทพมหานคร เมืองสวรรค์แห่งการท่องเที่ยว สถานที่ในฝันสำหรับนักเดินทางหลายๆ คนจากทั่วทุกมุมโลก ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเรื่อง แสงสี เสียง และสถานบันเทิง แต่ในอีกมุมหนึ่ง กรุงเทพฯ ก็ถือเป็นเมืองแออัด ด้วยเหตุเพราะผู้คนจากทั่วทั้งประเทศ หลั่งไหลกันเข้ามาทำมาหากิน ด้วยเหตุนี้ เพียงไม่นาน จึงไม่แปลกที่ความคราคร่ำของผู้คน จะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะความมักง่ายของประชาชน สะสมเป็นมลพิษ ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ
โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางน้ำ ข้อมูลของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพฯ บันทึกว่า คลองในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 1,161 คลอง และคูลำกระโดง จำนวน 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง มีความยาวทั้งหมด 2,604 กิโลเมตร ปัจจุบัน พบว่าคลองในเมืองส่วนใหญ่เน่าเสีย...!?
กทม. ไปไหน ทำไมปล่อยให้น้ำเน่ามาได้เป็นสิบๆ ปี ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรได้รับการแก้ไข แล้วทางภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาประชาชนหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สอบถามไปยังบรรดาผู้รับผิดชอบ ในแขนงต่างๆ เพื่อมาเปิดเผยให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับทราบนับจากบรรทัดนี้ ต่อไป...
'ทำอะไร ได้อย่างนั้น' เมื่อในครัวเรือนมีน้ำ ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ก็ใช้วิธีปล่อยลงสู่ลำคลองอย่างมักง่าย
ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ ระบุชัดว่า น้ำเสียส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านการบำบัด มาจากอาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัย โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงพยาบาล หรือ สถานประกอบการต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำทิ้งไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวัน พอสะสมลงในแม่น้ำลำคลองนานๆ เข้าจึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในเมืองกรุง
ขยะจากหลังบ้านของชุมชนริมคลองลาดพร้าว
ซึ่งส่วนประกอบ น้ำทิ้งสารพัดชนิด ต่างๆ ที่ไหลลงสู่ลำคลองต่างๆ นั้น เชื่อว่า หากทุกคนรู้ว่ามันคืออะไร ก็คงทำรู้สึก อยากร้องอี๋! ไปด้วยความสกปรก เพราะของเสียเหล่านั้น ประกอบไปด้วย น้ำส้วม และน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ น้ำโสโครกจากท่อระบายน้ำ หรือ ผ่านระบบส้วมซึมออกมา กากของเสีย และสิ่งปฏิกูลที่ปนออกมากับน้ำทิ้ง
นอกจากนี้ แม่น้ำลำคลองต่างๆ ใน กทม. นอกจากเจอน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะอย่างอิสระเสรีแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือ การทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ที่โยนลงคลองอย่างมักง่าย บางชุมชนอ้างว่าไม่ได้ทิ้งขยะลงคลอง แต่ไปทิ้งลงหลังบ้าน ทั้งๆ ที่ หลังบ้านของตัวเองเป็นพื้นที่น้ำไหลลงคลองเมื่อฝนตก ขยะเหล่านั้น จึงถูกน้ำพัดไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองอยู่ดี หรือบางครั้งเมื่อเกิดฝนตก ก็จะเอาเศษขยะเหล่านั้นไหลลงคลองไปอีกเช่นกัน เมื่อสิ่งสกปรกเหล่านี้ ไปหมักหมมรวมกันในลำคลองมากๆ เข้า ค่าออกซิเจนในน้ำ จึงค่อยๆ ลดลงๆ จนในที่สุดก็เกิดการเน่าเสีย และไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและสัตว์อื่นๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ ผิวนิล
การทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ที่โยนลงคลองอย่างมักง่าย
โดยปัญหานี้ ถูกย้ำข้อมูลโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ ผิวนิล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวฯ เรา โดยเอื้อนเอ่ยประโยคแรกในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า "เน่าทุกคลองใน กทม.ค่ะ"จากนั้นจึงได้ให้ข้อมูลอันชวนน่าตกตะลึง ต่อไปว่า สภาพน้ำเน่าเสียในเมืองหลวงของเรานั้น สามารถเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า เพราะสภาพน้ำ และเห็นชัดว่า เป็นสีดำคล้ำ และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่สามารถนำใช้อุปโภค บริโภคได้ และยิ่งเมื่อนำตัวอย่างน้ำไปตรวจ จะพบว่า ค่าความสกปรกที่ตรวจพบไม่เหมาะแก่การมาใช้ประโยชน์ ออกซิเจนในน้ำก็ไม่มี เพราะฉะนั้น อย่าไปหวังว่าจะมีสัตว์น้ำดำรงชีวิตอยู่ได้
ขณะที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านชลประทาน และการคลองในเขตพื้นที่ กทม. ก็ได้กล่าวยอมรับกับทีมข่าวฯ ของเราว่า คลองใน กทม. มีการแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับผิดชอบโดย กทม. แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย สำนักงานระบายน้ำ 20% ที่ดูแลเรื่องน้ำท่วมต่าง ๆ อีกส่วนคือรับผิดชอบโดยเขต ทั้ง 50 เขต ซึ่งจะดูแลเกี่ยวกับชุมชน 80% ส่วนอีกกลุ่มคือ กรมชลประทาน ส่วนมากเป็นที่ราชพัสดุ สำหรับคลองที่มีปัญหาย่ำแย่นั้นส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการทิ้งขยะลงคูคลอง และการใช้น้ำของประชาชน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ริมน้ำ
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
"เราเคยไปทำกิจกรรมกับชุมชนในคลองภาษีเจริญ นั่งเรือดูคลองประมาณ 10 กม. พบว่าในช่วงเช้ามีขยะเยอะมาก ทั้งๆ ที่ ทางสำนักงานเขต ก็มีการจัดการเก็บขยะให้ทุกเช้า ด้วยความแปลกใจ จึงได้ลงพื้นที่ไปสอบถามกับชาวบ้าน นั่นแหละ ถึงได้ร้อง อ้อ เพราะเมื่อไปถามเค้าว่า ไปทิ้งขยะกันตรงไหน ชาวบ้านก็ชี้ไปลงที่ลำคลอง แล้วก็ตอบว่า ก็นี่ไงที่ทิ้งขยะ"
ผู้เชี่ยวชาญ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า สาเหตุที่น้ำคลองใน กทม.เหม็น เพราะส่วนใหญ่ในคลอง จะมีตะกอนสูงมาก แถมยังพบก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟ หรือ แก๊สไข่เน่าสูง แสดงให้เห็นว่า ออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอที่จะย่อยสลายสารอินทรีย์ ทำให้เกิดการย่อยสลายในสภาวะไร้ออกซิเจน หรือ ไม่มีอากาศด้านล่างของคลอง จึงทำให้มีกลิ่นเหม็นและน้ำเป็นสีดำ เพราะด้านล่างคลองเต็มไปด้วยตะกอน สะสมเป็นเวลานาน เมื่อไม่ขุดลอกคลองเลย ก็ทำให้เกิดแก๊สไข่เน่า คุณภาพของน้ำลดลง เวลาน้ำลด หรือแห้ง เราก็จะเห็นเป็นโคลนตะกอนสีดำเหม็นอย่างชัดเจน
ปัญหากลิ่นเน่าเหม็น เกิดจากไม่ได้มีการขุดลอกคูคลอง? ถ้าเช่นนั้น เราลองไปฟังคำอธิบายจากผู้รับผิดชอบโดยตรงกันดีกว่า....
โดย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมา กทม.มีการขุดลอกคลอง รวมทั้งท่อระบายน้ำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ก่อนที่จะเข้าฤดูฝน เพราะฉะนั้น ตะกอนจึงไม่น่าจะมีอิทธิพลกับคุณภาพน้ำเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่กว่าตะกอน คือ ขยะ ซึ่งมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่ประชาชนชอบนำมาทิ้งกันเป็นปกติ ส่วนกลิ่นเน่าเหม็นนั้น ก็เพราะมีแบคทีเรียเยอะในน้ำเสีย แต่ทาง กทม. ได้เร่งหาทางแก้ไขแล้ว โดย 1. ใช้วิธีเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เช่น การนำกังหันน้ำชัยพัฒนา และ เครื่องเป่าลมลงน้ำ มาใช้กับพื้นที่ ที่น้ำไม่ไหล และ 2. คือเติมสารเคมีลงในแหล่งน้ำ เช่น ปูนขาว เพื่อลดกลิ่น
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.
การทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ที่โยนลงคลองอย่างมักง่าย สาเหตุที่ทำน้ำเน่าเหม็น
"แรกๆ ผม ก็ถึงกับอยากร้องเรียนเองด้วยซ้ำ เพราะกลิ่นมันแรงมาก" นายอมร กล่าวยอมรับกับทีมข่าวฯ แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ร้องเรียน มักจะเป็นประชาชนทั่วๆ ไป ที่เดินผ่านไปผ่านมามากกว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง เพราะชุมชนเหล่านั้นส่วนใหญ่มักจะชินกันแล้ว
โดยผู้รับผิดชอบโดยตรงของ กทม. กล่าวยืนยันกับทีมข่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยนิ่งนอนใจ โดยขณะนี้ได้เร่งเดินหน้าสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย เพิ่มอีก 4 แห่ง จากปัจจุบันที่มีเพียง 8 แห่ง คือที่ คลองเตย ฝั่งธนบุรี มีนบุรี และ บึงหนองบอน เพื่อบำบัดน้ำเสียให้เป็นระบบมากขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการดำเนินการรณรงค์ไม่ให้มีการทิ้งขยะลงบนแหล่งน้ำสาธารณะ การกำจัดสิ่งปฏิกูล เช่น ผักตบชวา การเปิดทางน้ำไหลเชื่อมคลองทุกจุดให้ถึงกัน เวลาฝนตก น้ำจะได้ระบายออกไป การบำบัดน้ำในคลองต้นทาง และที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ประชาชนถึงการบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยทิ้งลงสู่คลอง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ จะมีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
วิถีชีวิตที่ชาวกรุงต้องเจอกับการสัญจรทางน้ำ ทำได้เพียงต้องจำ "ฝืนทน" ดมกลิ่นไม่พึงปราถนา ด้วยความเศร้าใจ และคุ้นชิน
สภาพน้ำบริเวณคลองลาดพร้าว หลังบ้านเรือนประชาชน
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ ให้ความเห็นกับทีมข่าวฯ ในเรื่องนี้ ว่า ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุให้ได้ นั่นคือต้องให้ชุมชนที่อยู่ริมคลองหยุดปล่อยน้ำเสีย บ้านทุกหลังต้องบำบัดน้ำเสียเองให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนปล่อยสู่ลงลำคลองสาธารณะ หากทำได้แบบนี้ น้ำในคลอง ก็จะสามารถฟอกตัวเองได้ตามธรรมชาติ รวมถึงต้องเร่งปลูกสร้างจิตสำนึกของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะหากยังคงมีการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เช่น ทุกวันนี้ ก็คงแก้ปัญหาได้ยาก ขณะเดียวกัน กทม. จะต้องเร่งขุดลอกคลอง เพื่อเอาตะกอนที่อยู่ใต้น้ำออก เพราะหากยังปล่อยปละละเลย ให้ตะกอนสะสมสูงใต้น้ำเช่นทุกวันนี้ การใช้วิธีการบำบัดอื่นๆ ก็คงไม่ได้ผลอะไร
ผศ.ดร.อรอนงค์ ได้ฝากคำแนะนำไปถึง กทม.ว่า ควรไปศึกษางานวิจัยโครงการศึกษาและวิจัยสิ่งแวดล้อมแหลมทับเบี้ยในพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เป็นโครงการดูแลการบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะ ใช้วิธีการบำบัดน้ำทางธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยจะยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า ...ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่... เป็นต้นแบบที่ดีหากจะนำมาบำบัดน้ำ
โดยจะมีการบำบัดน้ำเสีย ออกเป็น 4 ระบบ คือ
1. ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบนี้ใช้วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ ให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย
2. ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ซึ่งแปลงหรือบ่อจะเก็บกักน้ำเสีย และปลูกธูปฤาษี กกกลม และหญ้าแฝกอินโดนีเซีย หรือปลูกหญ้าอาหารสัตว์ พืชเหล่านี้มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ
3. ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม การบำบัดน้ำเสียแบบนี้ใช้วิธีการปล่อยน้ำเสียผ่านบ่อดินตื้นๆ ที่ภายในปลูกพืชประเภทกก รากของพืชเหล่านี้จะช่วยดูดซับสารพิษ และอินทรีย์สารให้ลดน้อยลง และย่อยสลายให้หมดไปในที่สุด
4.ระบบแปลงพืชป่าชายเลน ระบบนี้ใช้หลักการบำบัดจากการเจือจางระหว่างน้ำทะเลกับน้ำเสีย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับชุมชน หรือกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีพื้นที่ติดกับป่าชายเลนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสร้างแปลงพืชป่าชายเลน
ในเมื่อข้อมูลยืนยันชัดแล้วว่า น้ำในลำคลอง กทม. ทั้งหมด เน่าเสีย แล้ว…ประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ ท่าน เกิดไปสัมผัสเข้า จะมีอันตรายหรือไม่ ในวันนี้ ทีมข่าวฯ จึงได้เชื้อเชิญ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาให้ความรู้ถึงวิธีการในการป้องกันต่างๆ
สภาพน้ำบริเวณคลองแสนแสบ ที่ชาวกรุงต่างคุ้นชิน
ขยะและสิ่งปฏิกูลในน้ำคลองแสนแสบ
โดย นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนควรพึงระวังมากที่สุด ก็คือ ไม่ควรใช้น้ำสกปรกเหล่านั้น ไปล้างภาชนะต่างๆ เพราะหากมีเชื้อโรคปนเปื้อน ก็อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วง โรคบิด โรคไข้ไทฟอยด์ได้ หรือ หากน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ก็จะทำให้เกิดโรคตาแดง หรือ การติดเชื้อต่างๆ ได้
อธิบดีกรมการแพทย์ ให้คำแนะนำว่า น้ำเสียเหล่านั้น สามารถเข้าไปในร่างกายได้ 2 ระบบ คือ สำลักเข้าจมูก และ กลืนลงเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยหากกลืนลงท้อง อันนี้ไม่น่าห่วงมากนัก เพราะสามารถขับถ่ายออกมาได้ แต่ถ้าสำลักเข้าจมูก ไปสู่ระบบทางเดินหายใจ อันนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากโพรงจมูก เชื่อมโยงกับอวัยวะภายในหลายส่วน ทำให้เชื้อโรคเข้าไปได้หลายจุด ซึ่งเมื่อเชื้อโรคที่มากับน้ำเน่า เข้าสู่อวัยวะใดก็ตาม ก็จะทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสมอง อันนี้จะอันตรายที่สุด ดังนั้น หากตกลงไปในน้ำเน่าเสีย สิ่งที่ควรรีบทำให้เร็วที่สุด ก็คือ เร่งชำระร่างกาย หากสำลักเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ก็ต้องนำตัวส่งไปพบแพทย์ โดยทันที
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า วิธีการแก้ไขก็คือ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด หรือ สบู่ โดยเร็วที่สุด เสื้อผ้าที่ถูกน้ำกระเด็นใส่ ก็ควรจะต้องซักให้เร็วที่สุด และอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นอันตรายและประชาชนควรหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค คือ บริเวนราวบันไดของเรือ ที่ผู้คนมากมายสัมผัสตลอดวัน ซึ่งหนีไม่พ้นมีเชื้อโรคติดอยู่ เพราะฉะนั้น หากเผลอไปสัมผัส ก็ควรล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะไปหยิบอาหารมาบริโภค หรือ หากร่างกายส่วนอื่นไปสัมผัสเข้า เมื่อขึ้นจากเรือก็ควรล้างให้สะอาด
สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้แหล่งน้ำเน่าเสีย ก็อยากขอความกรุณา อย่านำสิ่งสกปรกไปทิ้งลงไปในแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะขยะทั้งหลาย ควรแยกขยะและทำลาย อย่าทิ้งลงคลอง เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลำคลองสกปรก และเมื่อแม่น้ำลำคลองสกปรก ผลสุดท้ายผลที่ตามมา ก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ทั้งน้ำใช้ น้ำดื่ม เพราะฉะนั้นควรช่วยกันหลายๆ วิธีไม่ให้ทิ้งสิ่งสกปรก หรือขับถ่ายลงแม่น้ำ ขอฝากให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกัน
ชาวกรุงได้แต่จำต้องฝืนทนดมกลิ่นไม่พึงปราถนา
และแน่นอน หากจะมีการพูดถึงปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง ของ กทม. คลองที่ ทีมข่าวฯ เชื่อว่าเหลือเกินว่า เป็นอมตะนิรันดร์กาลแห่งความสกปรกที่สุดของเมืองไทย ย่อมหนีไม่พ้นคลองแสนแสบ ที่ปัจจุบันแทบไม่เหลือสภาพที่ดีพอจะให้ไอ้ขวัญและอีเรียมได้ไปตระกองกอดพลอดรักกันในน้ำได้อีกต่อไปแล้วนั้น ประชาชนชาว กทม. อยากรู้ไหมว่า ปัจจุบันคลองแสนแสบอยู่ในภาวะใด? นับจากบรรทัดนี้ไป แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ลองติดตามมาอ่านกัน...
ประวัติคลองแสนแสบ ปัจจุบันมีอายุ 179 ปีแล้ว เป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 3 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับ แม่น้ำบางปะกง เข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมา ตั้งแต่สมัยช่วงสงครามเวียดนาม แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นมานับเป็นสิบๆ ปี ทั้งนี้เพราะลำคลอง ต้องผ่านบริเวณชุมชนแออัดหลายชุมชน ซึ่งมักมีการทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำ
สภาพน้ำดำในคูคลองที่น้ำ บริเวณคลองแสนแสบ
จากข้อมูล สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้วิเคราะห์คุณภาพของน้ำ จำนวน 10 จุด ตั้งแต่บริเวณสะพานแยกประตูน้ำจนถึงตลาดหนองจอก พบว่า น้ำในคลองมีปริมาณค่าออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen : DO) มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 0.4-4.3 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (Biochemical Oxygen Demand : BOD) มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.3-15.4 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่บริเวณที่มีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการบำบัดน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำและไหลลงสู่ลำคลอง คือ จุดเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณซอยวัดเทพลีลา ซึ่งมีค่า BOD เฉลี่ยเท่ากับ 15.0 มิลลิกรัมต่อลิตร และค่าการปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด(Total Coliform Bacteria : TCB) มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.8E+04 - 1.1E+08 MPN (E=10) ต่อปริมาตรน้ำ 100 มิลลิลิตร ยิ่งไปกว่านั้น การที่มีเรือโดยสารแล่นในคลองแสนแสบตั้งแต่ท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ถึงสะพานผ่านฟ้าคลองมหานาค จึงทำให้ตะกอนก้นคลองฟุ้งกระจายตลอดเวลา เป็นเหตุให้ค่าตะกอนแขวนลอย (Suspended Solid : SS) มีค่าสูงสุดถึง 97.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำ ค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ และค่าการปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด ที่แสดงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ กับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งผิวดินประเภทที่ 4 จะพบว่าน้ำในคลองแสนแสบมีคุณภาพที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ผ่านตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2537
นอกจากนี้ จากการสำรวจคุณภาพน้ำของคลองแสนแสบ ในช่วงปี พ.ศ.2545-2550 พบว่า มีสภาพค่อนข้างสกปรก เนื่องจากยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมตลอดทั้งแนวคลองแสนแสบ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีเพียงระบบบำบัดน้ำเสียบางส่วนซึ่งอยู่ในพื้นที่บริการของโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง คือ บริเวณประตูน้ำถึงถนนอโศกดินแดงเท่านั้น.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด